ตามทฤษฎีจุลเศรษฐศาสตร์หรือทฤษฎีการผลิตของหน่วยผลิตแบบดั้งเดิม (Theory of the Firm) ได้แบ่งตลาดหรือโครงสร้างตลาดออกเป็น 4 ประเภทสรุปได้ดังนี้
1. ตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ (Perfect Competition) โดยที่โครงสร้างของตลาดแบบนี้ประกอบไปด้วย ผู้ผลิตสินค้าที่เหมือนกันทุกประการจำนวนมาก ผู้ผลิตแต่ละรายมีส่วนแบ่งในตลาดน้อยมาก จนไม่สามารถที่จะมีอิทธิพลในตลาด ราคาจึงถูกกำหนดจากอุปสงค์และอุปทานในตลาด ผู้ผลิตจะนำเอาราคาตลาดมาตัดสินใจการผลิตเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด เงื่อนไขการเข้าหรือออกจากอุตสาหกรรมเป็นไปได้โดยเสรี นอกจากนี้แล้ว ผู้ผลิตและผู้บริโภคทราบข้อมูลข่าวสารในตลาดอย่างสมบูรณ์
2. ตลาดผูกขาด (Monopoly) การผูกขาด หมายถึง การเป็นผู้ผลิตเพียงหน่วยเดียวในตลาด ไม่มีสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนกันได้อย่างใกล้เคียงกับสินค้าที่ผู้ผูกขาดทำการผลิตอยู่ในตลาด ผู้ผูกขาดสามารถที่จะกำหนดราคาหรือระดับผลผลิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้กำไรสูงสุดหรือผู้ผูกขาดอาจจะเลือกวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจนอกเหนือไปจากการแสวงหากำไรสูงสุดเช่น การแสวงหาความพอใจสูงสุด ยอดขายสูงสุด หรือการแสวงหาความเจริญเติบโตของหน่วยการผลิตก็ได้ การเข้าสู่ตลาดของหน่วยการผลิตใหม่ จะถูกกีดกันอย่างเต็มที่จากการที่ผู้ผูกขาดสามารถกำหนดราคาสินค้าได้ จึงทำให้เส้นอุปสงค์ในสายตาของผู้ผูกขาดก็คือ เส้นอุปสงค์ตลาด
3. ตลาดแบบกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition) ตลาดประเภทนี้จะมีหน่วยการผลิตมากพอที่จะทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตในตลาด สินค้ามีลักษณะที่สามารถทดแทนกันได้ กล่าวคือสินค้าของผู้ผลิตจะมีความแตกต่างกันบ้างในสายตาของผู้บริโภค แต่สามารถใช้ทดแทนกันได้อย่างใกล้เคียง แม้ว่าสินค้าจะใช้ทดแทนกันได้อย่างดี แต่หน่วยการผลิตเหล่านี้จะไม่ใส่ใจต่อปฏิกิริยาของคู่แข่งขันคนอื่น ๆ เพราะประกอบไปด้วยผู้ผลิตเป็นจำนวนมาก ผู้ผลิตแต่ละคนคิดว่าเขายังสามารถรักษาส่วนแบ่งส่วนหนึ่งในตลาดไว้ได้ ถ้าหากเขาขึ้นราคาสินค้าเพราะผู้ผลิตแต่ละรายมีอำนาจผูกขาดในสินค้าที่ตนผูกขาดอยู่ อันเนื่องมาจากความแตกต่างของสินค้า การเข้าออกจากตลาดเป็นการกระทำได้ง่าย
4. ตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) ในตลาดนี้จะประกอบด้วยผู้ผลิตจำนวนน้อย ดังนั้นผู้ผลิตแต่ละรายจะคำนึงถึงปฏิกิริยาโต้ตอบที่มีอยู่ต่อกันของคู่แข่งในตลาด การแข่งขันจะไม่สมบูรณ์และต่อสู้ระหว่างผู้ผลิตจะมีอยู่สูงนอกจากนี้ในการที่มีผู้ผลิตจำนวนน้อยจะทำให้เกิดข้อตกลงรวมตัวกันระหว่างคู่แข่ง สินค้าในตลาดนี้อาจจะเป็นสินค้าที่เหมือนกันทุกประการ ซึ่งเรียกว่าตลาดผู้ขายน้อยรายแบบนี้ว่า Pure Oligopoly เป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ผลิตขายสินค้าเหมือนกัน แต่ถ้าสินค้ามีลักษณะที่แตกต่างกันจะเรียกว่า Differentiated Oligopoly ผู้ผลิตที่อยู่ในตลาดแบบนี้มักจะคาดคะเนปฏิกิริยาของคู่แข่งและสินค้า อย่างไรก็ตามในตลาดประเภทนี้ ผู้ผลิตมักไม่ทำการแข่งขันทางด้านราคา เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อผู้ผลิตเอง และในบางกรณีก็จะมีการตกลงร่วมมือกันในการกำหนดราคา และปริมาณการผลิตเพื่อลดความขัดแย้งกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ผลิตจะไม่ทำการแข่งขันกันทางด้านราคา แต่ก็ยังต้องทำการแข่งขันกันทางด้านการโฆษณา การปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของตนในตลาดผู้ขายน้อยราย การเข้าออกจากอุตสาหกรรมจะเป็นไปได้ยากกว่าในตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด ทั้งนี้เนื่องจากมีข้อจำกัดบางประการ เป็นต้นว่า ข้อจำกัดทางด้านเงินลงทุน ข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย และข้อจำกัดอันเนื่องมาจากการใช้นโยบายการรวมตัวกันในการดำเนินนโยบายการผลิตของผู้ผลิตเดิม ทำให้ผู้ผลิตใหม่ ๆ เข้ามาทำการแข่งขันได้ยาก