การเปิดรับสื่อ หมายถึง การที่บุคคลได้เปิดรับข้อมูลข่าวสาร และเนื้อหาด้านการลงทุนที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อการลงทุน รวมถึงการสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการสื่อสารเพื่อการลงทุน
โดยทั่วไปแล้ว สื่อในการสื่อสารแบ่งเป็น 5 ประเภท ดังต่อไปนี้
1. สื่อบุคคล หมายถึง ตัวบุคคลที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ สู่บุคคลอื่น รวมตลอดไปจนถึงบุคคลผู้แสดงสื่อประเพณีประเภทต่างๆ ในสมัยก่อนเมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่ก้าวหน้าเหมือนเช่นปัจจุบัน สื่อบุคคล จัดเป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดข่าวสารสู่กันและกันที่สำคัญยิ่ง แม้ในปัจจุบันการใช้สื่อบุคคลเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดสารไปยังผู้รับสารก็ยังได้ รับความนิยมและจัดเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารมากที่สุด โดยเฉพาะการโน้มน้าวใจหรือชักจูงใจให้เกิดการยอมรับตามความต้องการของผู้ส่งสาร
2. สื่อมวลชน การสื่อสารมวลชน เป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสาร ซึ่งมีลักษณะโดยทั่วไปแตกต่างไปจากการสื่อสารในรูปแบบอื่น คือ กลุ่มผู้รับสารเป็นกลุ่มชนขนาดใหญ่และไม่ได้อยู่ร่วมกันในสังคมหรือมีประสบการณ์ร่วมกัน มีความหลากหลายและมีลักษณะแตกต่างกัน ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร หนังสือเล่ม วิทยุกระจายเสียง เสียงตามสาย หอกระจายข่าว หนังสือพิมพ์กำแพง โปสเตอร์ ใบปลิว จดหมายข่าว จดหมายส่งโดยตรง แผ่นพับ เอกสารเย็บเล่ม ป้ายกลางแจ้ง สัญลักษณ์ ภาพถ่าย ภาพวาด นิทรรศการ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ ละครเวที การแสดงต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน จะมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Media) เช่น จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และอินเทอร์เน็ต ที่สามารถสื่อสารกันได้อย่างไร้พรมแดน
3. สื่อสิ่งพิมพ์ บางครั้งการสื่อสารไปยังกลุ่มผู้รับสารที่มีจำนวนมาก หรือกลุ่มมวลชนเป้าหมาย จำเป็นต้องผลิตเอกสารสิ่งพิมพ์ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการกระจายข่าวสารให้ทั่วถึงทุกคน เอกสารสิ่งพิมพ์ที่นิยมผลิตเพื่อใช้ในการสื่อสารกับมวลชน ได้แก่ หนังสือพิมพ์รวมทั้งเอกสารแทรกสิ่งพิมพ์ รายงานขององค์กร หนังสือเล่ม แผ่นโฆษณาประเภทสิ่งพิมพ์ (โปสเตอร์) แผ่นพับ แผ่นปลิว จดหมายส่งโดยตรง จดหมายข่าว วารสาร จุลสาร หนังสือคู่มือปฏิบัติงาน ฯลฯ
4. สื่อโสตทัศน์ สื่อประเภทนี้ได้แก่ สื่อที่ผู้รับสารรับได้ทั้งภาพและ/หรือเสียง แบ่งเป็นประเภทได้ 2 ประเภท คือ สื่อวัสดุ และสื่ออุปกรณ์ เพื่อเสนอต่อกลุ่มเป้าหมายในลักษณะต่างๆ กัน กล่าวคือ
4.1 สื่อประเภทวัสดุ เป็นสื่อวัสดุที่อาจใช้ได้ด้วยตัวเองหรือใช้ร่วมกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือ ได้แก่ ภาพต่างๆ เช่น ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพเขียน สไลด์ แผ่นโปร่งใส กระดานนิเทศ หุ่นจำลอง เทปบันทึกเสียง เทปบันทึกภาพ ฟิล์มภาพยนตร์ ฟิล์มสตริป ของตัวอย่าง ฯลฯ
4.2 สื่อประเภทอุปกรณ์ เป็นอุปกรณ์ที่ต้องนำวัสดุมาประกอบจึงจะสามารถถ่ายทอดสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ อุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องเล่นแผ่นเสียงเครื่องเล่นเทปบันทึกเสียง เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ เครื่องฉายสไลด์ เครื่องฉายภาพทึบแสง เครื่องฉายฟิล์มสตริป เครื่องรับวิทยุกระจายเสียง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์
5. สื่อกิจกรรม ในปัจจุบันสื่อหมายความรวมถึงกิจกรรม วิธีการต่างๆมากมาย ตามแต่วัตถุประสงค์ที่จะได้จัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารสู่กลุ่มเป้าหมาย สื่อประเภทกิจกรรมจึงได้เข้ามามีบทบาทในการสื่อสารระดับต่างๆ หลายรูปแบบ กล่าวคือ
5.1 กิจกรรมประเภทเผชิญหน้า เช่น การประชุม การสัมมนา การสาธิต ฯลฯ
5.2 กิจกรรมนิเทศทัศน์ เช่น อาคันตุกะทัศนา ได้แก่ การเปิดองค์การให้กลุ่มต่างๆ เข้าเยี่ยมชม พบปะกับกลุ่มเป้าหมาย การจัดริ้วขบวน การจัดนิทรรศการ ฯลฯ
5.3 กิจกรรมวันรื่นเริงแข่งขัน เช่นการจัดแข่งขันกีฬา การแสดงหรือการจัดประกวด เป็นต้น
5.4 การจัดกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การจัดกิจกรรมทางการกุศล จัดกิจกรรมทางการศึกษา จัดกิจกรรมฝึกอาชีพ