1. ลักษณะการปกครองแบบเทศบาล
การปกครองท้องในรูปแบบเทศบาล เริ่มมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2473 โดยมีการจัดตั้งเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2478 โดยยกฐานะจากสุขาภิบาลเป็นเทศบาลได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลขึ้นและได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทศบาลหลายครั้ง
การกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาจัดตั้งเทศบาล มีเกณฑ์ 3 ประการ คือ
1. จำนวนและความหนาแน่นของประชากรในท้องถิ่นนั้น
2. ความเจริญทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น โดยพิจารณาจากการจัดเก็บรายได้ตามที่กฎหมายกำหนด และงบประมาณรายจ่ายในการดำเนินกิจการของท้องถิ่น
3. ความสำคัญทางการเมืองของท้องถิ่น โดยพิจารณาถึงศักยภาพของท้องถิ่นนั้นว่าจะพัฒนาความเจริญได้รวดเร็วมากน้อยเพียงใด
2.การแบ่งประเภทของเทศบาล
กฎหมายได้กำหนดให้จัดตั้งเทศบาลขึ้น 3 ประเภท โดยกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างกว้างๆ ดังนี้
1. เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีพระราชกฤษฎีกา ยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาล
2. เทศบาลเมือง
2.1 ท้องที่ ที่เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง ให้ยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองได้โดยไม่ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์อื่นๆ ประกอบ
2.2 ส่วนท้องถิ่น ที่มิใช่เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดจะยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้
2.2.1 เป็นที่ ที่มีพลเมืองตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป
2.2.2 มีรายได้เพียงพอ แก่การปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามกฎหมาย กำหนดไว้
2.2.3 มีพระราชกฤษฏีกา ยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง
2.3 เทศบาลนคร มีหลักเกณฑ์การจัดตั้ง ดังนี้
2.3.1 เป็นท้องที่ ที่มีพลเมืองตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป
2.3.2 มีรายได้พอแก่การปฏิบัติหน้าที่อันต้องตามกฎหมายที่กำหนดไว้
2.3.3 มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลเมือง
3. โครงสร้างของเทศบาล
โครงสร้างของเทศบาล ประกอบด้วย สภาเทศบาลและคณะเทศมนตรี หรือนายกเทศมนตรี แล้วแต่กรณี ทั้งนี้เทศบาลใดจะมีการบริหารในรูปแบบคณะเทศมนตรี หรือนายกเทศมนตรี หรือนายกเทศมนตรีให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตเทศบาลนั้น โดยมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในเขตเทศบาลจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดมีสิทธิเข้าชื่อยื่นร้องขอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้จัดทำประชาคมภายในเขตเทศบาลนั้น เพื่อกำหนดรูปแบบการบริหารว่าจะเป็นแบบคณะเทศมนตรี หรือนายกเทศมนตรี และให้ใช้รูปแบบการบริหารตามผลประชามตินั้นตลอดไป จนกว่าจะทำประชามติเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารเทศบาลเป็นอย่างอื่น
3.1 สภาเทศบาล ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง จากประชาชนตามจำนวนดังต่อไปนี้
3.1.1 สภาเทศบาลตำบล ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 12 คน
3.1.2 สภาเทศบาลเมือง ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 18 คน
3.1.3 สภาเทศบาลนคร ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 24 คน
3.2 คณะเทศมนตรี ในกรณีที่ประชาคมมติของประชาชนในเขตเทศบาลให้ใช้รูปแบบการบริหารแบบคณะเทศมนตรี ให้กับเทศบาลนั้น มีคณะเทศมนตรีโดยความเห็นชอบ ของสภาเทศบาลตามจำนวน ดังนี้
3.2.1 เทศบาลตำบล ให้มีเทศมนตรีไม่เกิน 2 คน
3.2.2 เทศบาลเมือง ให้มีเทศมนตรีไม่เกิน 3 คน
3.2.3 เทศบาลนคร ให้มีเทศมนตรีไม่เกิน 4 คน
3.3 นายกเทศมนตรี ในกรณีที่ผลประชาคมมติของประชาชนในเขตเทศบาลให้ใช้รูปแบบ การบริหารแบบนายกเทศมนตรี ให้เทศบาลนั้นมีนายกเทศมนตรีหนึ่งคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในเขตเทศบาลนั้น และนายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรี ซึ่งมิใช่สมาชิกสภาเทศบาล เพื่อเป็นผู้ช่วยเหลือในการบริหารราชการตามที่นายกเทศมนตรีมอบหมายได้ตามจำนวนดังต่อไปนี้
3.3.1 เทศบาลตำบล ให้มีรองนายกเทศมนตรีไม่เกิน 2 คน
3.3.2 เทศบาลเมือง ให้มีรองนายกเทศมนตรีไม่เกิน 3 คน
3.3.3 เทศบาลนคร ให้มีรองนายกเทศมนตรีไม่เกิน 4 คน